นพ.โสภณ เมฆธน แนะเคล็ดลับป้องกันไข้เลือดออก อย่าให้ยุงกัด อย่าให้ยุงเกิด ประเมินก่อนเกิดการระบาด
โรคไข้เลือดออกเกิดจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งมี 3 สายพันธุ์ หรือเรียกว่าเป็นชนิด 1, 2, 3 การติดต่อของไข้เลือดออกนั้นมีพาหะนำโรคก็คือ ยุงลาย ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในบ้านคน ชอบวางไข่ในน้ำที่สะอาด ออกหากินในเวลากลางวัน จึงทำให้เกิดการระบาดในบริเวณบ้านหรือชุมชนใกล้เคียง การสันนิษฐานว่าเป็นไข้เลือดออกทำได้โดยสังเกตเมื่อมีอาการป่วย ไข้ขึ้นสูง ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ตัวแดง มีผื่นแดง หรือเลือดกำเดาไหล สาเหตุมาจากการที่เชื้อไวรัสมีปฏิกิริยาทำให้เกิดเกล็ดเลือดต่ำ ซึ่งกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดไข้เลือดออกมากที่สุดคือเด็กนักเรียน
นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่าสถานการณ์โรคไข้เลือดออกตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 พบผู้ป่วยเป็นไข้เลือดออกประมาณ 75,000 คน ต่อมาในปี พ.ศ.2556 มีจำนวนผู้ป่วยเป็นไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นเป็น 150,000 คน แต่ปี พ.ศ.2557 พบผู้ป่วยไข้เลือดออกลดลงเหลือเพียง 40,000 คน ซึ่งดูจากสถิติจะเห็นได้ว่าผู้ป่วยไข้เลือดออกมีจำนวนเพิ่มขึ้นและลดลงปีเว้นปีโดยในปี พ.ศ.2558 นี้ คาดการณ์ว่าจะมีผู้เป็นโรคไข้เลือดออกเพิ่มสูงขึ้นถึง 80,000 คน เมื่อเทียบกับสถิติที่ผ่านมา จากการสำรวจจำนวนผู้ป่วยเป็นไข้เลือดออกตั้งแต่เดือนมกราคม 2558 ถึงเดือนสิงหาคม 2558 พบผู้ป่วยเป็นไข้เลือดออก จำนวน55,000 คน เสียชีวิตไป 42 คน
ข้อสังเกตง่ายๆ ของโรคไข้เลือดออก คือ
- การสำรวจพื้นที่ในชุมชนว่ามีใครป่วยเป็นไข้เลือดออกหรือไม่ หากมีให้สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นไข้เลือดออก ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
- โรคไข้เลือดออกจะมีไข้ขึ้นสูง เมื่อรับประทานยาลดไข้ก็อาจทำให้ไข้ลดลงเล็กน้อยแต่อีกไม่นานไข้ก็จะกลับมาขึ้นสูงอีกครั้ง ไม่มีอาการไอ หรือมีน้ำมูกแต่อย่างใด แต่ที่น่ากลัวหลังจากนั้น 3-4 วัน จะเข้าสู่ระยะที่ 2 คือการช็อก มีอาการซึม มือเท้าเย็น ระยะฟักตัวของโรคไข้เลือดออกมีอยู่ประมาณ 5-7 วัน การเข้ารับการรักษาที่ช้าเกินไป อาจส่งผลให้เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ได้ ซึ่งอวัยวะต่างๆ ก็จะเกิดการสูญเสียหรือถูกทำลาย เช่น ตับ ไต ทำให้เกิดการเสียชีวิตได้
วิธีการป้องกันโรคไข้เลือดออก คือ “ไม่ให้ยุงกัด ไม่ให้ยุงเกิด“เนื่องจากยุงเป็นตัวพาหะนำเชื้อโรคมาสู่คน ซึ่งยุงที่ไปกัดผู้ป่วยที่มีเชื้อไข้เลือดออกนั้น ทำให้เชื้ออยู่ในตัวยุง ขณะที่ยุงวางไข่ก็อาจเป็นการขยายเชื้อเป็นวงกว้างได้ ขณะที่ยุงมีเชื้อไข้เลือดออกแล้วไปกัดคนปกติ ก็ทำให้เกิดการป่วยเป็นไข้เลือดออกได้ ถ้าเราป้องกันไม่ให้ยุงกัดได้ก็จะป้องกันการติดเชื้อไข้เลือดออกได้ โดยการทายากันยุงอยู่ในพื้นที่ที่ยุงไม่สามารถเข้ามากัดเราได้ นอนกางมุ้ง จัดเก็บสิ่งของในบ้านให้เป็นระเบียบเพื่อป้องกันยุง
ปัจจุบันมีหลายบริษัทกำลังคิดค้น วิจัย ทดลอง วัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกทั้งในและต่างประเทศ จากการทดสอบประสิทธิภาพได้ผลประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ และอยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียนวัคซีนเพื่อที่จะนำออกมาจำหน่าย โดยกรมควบคุมโรคกำลังดำเนินการเพื่อให้ประชาชนได้ใช้วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับราคาวัคซีนและคุณภาพวัคซีน ที่จะทำให้ประชาชนได้รับวัคซีนที่มีคุณภาพมากที่สุด ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถป้องกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์แต่ก็สามารถลดอาการลงได้ โดยกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับวัคซีนส่วนใหญ่เป็นเด็กนักเรียน เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงมากที่สุด
สำหรับการรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อไวรัสไข้เลือดออกในขณะนี้ยังไม่มี ปัจจุบันทำการรักษาตามอาการ ถ้ามีไข้ขึ้นสูงก็ให้ยาลดไข้ในกลุ่มซึ่งไม่เป็นอันตราย เพราะว่าในกลุ่มแอสไพริน (aspirin)กับกลุ่มพวกลดการอักเสบ ยาไอบูโปรเฟน (Ibuprofen) เป็นยาที่เป็นอันตราย ห้ามใช้ ให้ใช้เฉพาะกลุ่มยาพาราเซตามอล(paracetamol) ในปริมาณที่ไม่มากเกินไป หากมากเกินไปจะทำให้เป็นพิษต่อตับ ทำให้เกิดปัญหาได้ นอกจากนี้ควรมีการให้น้ำเกลือเพื่อประคับประคองไม่ให้เกิดการขาดน้ำ ลดอาการช็อก ทั้งนี้ควรดูแลรักษาภายใต้ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น และควรพบแพทย์ให้เร็วที่สุด
ตัวอย่างเหตุการณ์ที่เศร้าสลดเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคอีสานเมื่อไม่นานมานี้ จากการที่มีหญิงสาวอายุเพียง 26 ปี เสียชีวิตด้วยโรคไข้เลือดออก เนื่องจากก่อนหน้านี้สามีป่วยเป็นไข้เลือดออก ทำให้ภรรยาติดเชื้อไข้เลือดออกไปด้วย แต่ก็ไม่สามารถยื้อชีวิตไว้ได้เนื่องจากหญิงสาวผู้นั้นเข้ารับการรักษาช้าเกินไป ทำให้เสียชีวิตในเวลาต่อมา
ซึ่งการควบคุมโรคไข้เลือดออกที่ดีที่สุด คือ ประชาชนต้องรับรู้และสามารถจัดการด้วยตนเองในการป้องกันยุงกัด กำจัดแหล่งกำเนิดยุง โดยไม่ต้องรอองค์กรส่วนท้องถิ่นเข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งอาจจะทำให้ช้าเกินไปในการป้องกันการแพร่เชื้อของยุง โดยแหล่งกำเนิดยุงส่วนใหญ่คือ โอ่งเก็บน้ำ น้ำหล่อขาตู้กับข้าว แจกันที่ไหว้พระแจกันพลูด่าง แอ่งน้ำรอบบ้าน ทั้งหมดนี้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงอย่างดีเลยทีเดียว
ขณะที่บางพื้นที่กรมควบคุมโรคได้ทำการประเมินแล้วว่าเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคไข้เลือดออก แต่ชุมชนในพื้นที่ก็ยังไม่ค่อยตระหนัก ถ้าชุมชนเหล่านั้นตระหนักถึงการป้องกันไม่ให้ยุงกัดและควบคุมไม่ให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุง เชื่อว่าจะลดความเสี่ยงลงไปได้มากทีเดียว หรือในชุมชนมีผู้เสียชีวิตและป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกประชาชนจำเป็นต้องร่วมมือกันป้องกันและแก้ไขอย่างทันท่วงที
กรมควบคุมโรค ได้ทำการวิเคราะห์ว่าอำเภอใดมีการเกิดการระบาดของไข้เลือดออกที่ไม่สามารถควบคุมได้ โดยเร่งทำการประกาศเป็นพื้นที่เสี่ยงทั้งหมด 160 อำเภอ พร้อมทำการสุ่มตรวจดัชนีลูกน้ำยุงลายว่ามีมากหรือน้อย เพื่อทำการแจ้งเตือนก่อนเข้าฤดูฝน ซึ่งมีบางอำเภอสามารถจัดการและควบคุมสถานการณ์ไว้ได้แต่บางอำเภอก็ไม่สามารถจัดการได้เพราะว่ายังไม่เกิดโรคไข้เลือดออกเมื่อเข้าฤดูฝนในบางพื้นที่จะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงจำนวนมากทำให้ยากต่อการควบคุม กรมจึงจำเป็นต้องหาวิธีการให้ความรู้ป้องกัน ควบคุม และรักษาผู้ป่วยไข้เลือดออกเพื่อลดการสูญเสียให้มากที่สุด โดยการสื่อสารให้ความรู้ ลงพื้นที่สุ่มตรวจและแจ้งเตือนพร้อมส่งหน่วยควบคุมโรคจากแมลง ทั้ง 12 หน่วยทั่วประเทศในการร่วมมือกับทางจังหวัดนั้นๆ วางแผนในการควบคุม อีกทั้งแนะนำการพ่นสารเคมีที่ถูกต้อง สนับสนุนและจัดการโดยหน่วยงานของกรมควบคุมโรค
นายแพทย์โสภณ กล่าวทิ้งท้ายว่า “ไข้เลือดออกมีปัจจัยที่สำคัญคือยุงเป็นพาหะนำโรคที่มากัดเราแล้วแพร่เชื้อโรค เพราะฉะนั้นตอนนี้เราจะต้องป้องกันอย่าให้ยุงกัดด้วยการยาทากันยุงหรือนอนในมุ้งให้ห่างไกลจากยุง และอย่าให้ยุงเกิดโดยการเก็บน้ำให้ดี เก็บบ้านเก็บผ้าที่สกปรกรกรุงรังที่เป็นแหล่งที่ยุงเกาะ เก็บรอบๆ บ้านให้สะอาดอย่าให้มีขยะ ถือเป็นหลักง่ายๆ ที่สามารถทำได้ แต่ส่วนใหญ่พี่น้องประชาชนยังไม่ค่อยตระหนัก ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ประชาชนต้องดำเนินการเองจริงๆ เพื่อตัวท่าน ลูกหลานของท่าน และคนที่ท่านรักเพื่อให้ห่างไกลจากโรคไข้เลือดออกในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายนนี้”